7 ข้อแนะนำสำหรับการอบโอโซน อบโอโซนอย่างไรให้ปลอดภัย

16793 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เตียงสีขาวในห้องที่สะอาด

เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่กำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการอบโอโซนหลายท่านรู้สึกสงสัยว่า การอบโอโซน อันตรายไหม

การอบโอโซนเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำความสะอาดพื้นที่ ซึ่งมีจุดเด่นคือความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดเครื่องที่ปล่อยโอโซนออกมากำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ในพื้นที่นั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโอโซนมีพิษกับมนุษย์ คำถามสำคัญคือ แล้วจะใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัย ทีมงาน CKKEQUIPMED จึงรวบรวมข้อแนะนำ 7 ข้อที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ผู้ที่ต้องการใช้งานเครื่องอบโอโซนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

สารบัญ

  1. ทำความรู้จักโอโซนและการอบโอโซนก่อน
  2. พื้นที่ที่มีการอบโอโซนไม่ควรมีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่
  3. อย่าลืมปิดพื้นที่ที่มีการอบโอโซน
  4. ระมัดระวังวัสดุที่อาจถูกโอโซนกัดกร่อน
  5. หลังอบโอโซนเสร็จ รอให้โอโซนสลายตัวเสียก่อน
  6. กำจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้นตอหากเป็นไปได้
  7. ปฏิบัติตามคู่มือและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน

1) ทำความรู้จักโอโซนและการอบโอโซนก่อน

โอโซนคือโมเลกุลที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม ซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ รวมถึงการฆ่าเชื้อโรค จึงมีการนำโอโซนมาใช้ในการกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บางชนิดในอากาศ หรือที่เรียกว่า “การอบโอโซน”

กระบวนการอบโอโซนจะเริ่มจากการปล่อยโอโซนออกมาจากเครื่องผลิต (เพราะโอโซนเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร ไม่สามารถเก็บรักษาให้คงสภาพเดิมได้นาน จึงต้องผลิตเพื่อใช้งานที่หน้างาน) เครื่องผลิตโอโซนจะแปลงออกซิเจนให้กลายเป็นโอโซน อะตอมออกซิเจนอะตอมหนึ่งในโอโซนจะแยกตัวออกมาจับตัวกับสิ่งไม่พึงประสงค์ในอากาศ เช่น แบคทีเรียหรือฟังไจบางสายพันธุ์ หรือสารเคมีที่ให้กลิ่นรบกวนบางประเภท แล้วระงับการทำงานของสิ่งเหล่านั้น ส่วนโอโซน เมื่อเหลืออะตอมออกซิเจนเพียงสองอะตอม ก็เท่ากับว่าได้คืนสภาพเป็นออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจโดยอัตโนมัติ

(บทความก่อนหน้านี้ของทีมงาน CKKEQUIPMED ได้ตอบคำถาม 3 ข้อที่มักมีผู้ถามเกี่ยวกับการอบโอโซน ซึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอโซนและการอบโอโซนไว้)

แม้ว่าการอบโอโซนจะมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน แต่ก็ต้องใช้งานด้วยความระมัดระวังเพราะโอโซนมีพิษกับระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดอาการไอ คันคอ หายใจไม่ออก รวมทั้งอาจทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายได้

2) พื้นที่ที่มีการอบโอโซนไม่ควรมีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่

(ขอบคุณภาพจาก Endri Killo จาก Unsplash)

หากจะปล่อยโอโซนออกมาฆ่าเชื้อหรือกำจัดสารเคมีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องปล่อยโอโซนออกมาในระดับที่เกินค่ามาตรฐานที่มนุษย์รับได้ (ในไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นโอโซนต่อ 1 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.10 ppm และต่อ 8 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.07 ppm) การอบโอโซนจึงควรทำในพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ในเวลานั้น

ดังนั้น ถ้าหากพื้นที่ที่จะอบโอโซนมีผู้ใช้งานเป็นประจำ เช่น เป็นห้องพักแรม ก็สามารถอบโอโซนได้ เพียงแค่ให้ผู้ใช้งานออกจากพื้นที่เสียก่อน และผู้อบโอโซนก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง เพราะเครื่องผลิตโอโซนมักจะตั้งเวลาการทำงานไว้ได้

นอกจากนี้โอโซนยังเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก่อนการอบโอโซนจึงควรตรวจสอบให้แน่ชัดเช่นกันว่า ไม่มีสัตว์เลี้ยงหรือพืชกระถางคงเหลืออยู่ในพื้นที่

3) อย่าลืมปิดพื้นที่ที่มีการอบโอโซน

(ขอบคุณภาพจาก Michael Marais จาก Unsplash)

เพราะโอโซนอาจเล็ดรอดออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงและก่ออันตรายกับผู้คนในบริเวณดังกล่าว จึงควรอบโอโซนในพื้นที่ปิด โดยปิดประตูและหน้าต่างของพื้นที่ที่มีการอบโอโซนอย่างแน่นหนา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรูหรือช่องเปิดที่จะทำให้โอโซนแพร่กระจายออกมาจากพื้นที่นั้นได้

4) ระมัดระวังวัสดุที่อาจถูกโอโซนกัดกร่อน

สิ่งของบางประเภทอาจเสียหายจากฤทธิ์กัดกร่อนของโอโซนเช่นกัน โอโซนสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางแตกหัก และเมื่อสัมผัสโอโซน เส้นใยผ้าจะเปราะบางลง สีย้อมผ้าและเม็ดสีบางประเภทในภาพเขียนก็จะจางลง ดังนั้น หากต้องการรักษาสภาพสิ่งของที่ทำจากวัสดุดังกล่าวไม่ให้ถูกโอโซนกัดกร่อน ก็ควรจะนำสิ่งของเหล่านั้นออกไปจากพื้นที่เสียก่อน

5) หลังอบโอโซนเสร็จ รอให้โอโซนสลายตัวเสียก่อน

อาจจะต้องรอครึ่งชั่วโมงถึงสองชั่วโมงเพื่อให้โอโซนที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่สลายตัว ก่อนจะกลับเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง หากโอโซนยังหลงเหลือในปริมาณมาก มนุษย์ก็สามารถได้กลิ่นดังกล่าว อย่างไรก็ตามโอโซนสามารถทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นโอโซนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการไม่ได้กลิ่นจึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอโซน

6) กำจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้นตอหากเป็นไปได้

(ขอบคุณภาพจาก Lucas van Oort จาก Unsplash)

หลังการอบโอโซน หากไม่ได้มีการจัดการแหล่งที่มาของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในอากาศ ไม่นานสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็จะกลับมาใหม่ ดังนั้นจึงควรจัดการกับแหล่งที่มาถ้าหากเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าในห้องมีกลิ่นเหม็นเพราะมีขยะอยู่ ก็ควรจัดการขยะให้เรียบร้อย มิฉะนั้น ต่อให้โอโซนดับกลิ่นเหม็นไปแล้ว กลิ่นก็จะยังกลับมา

7) ปฏิบัติตามคู่มือและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน

เพราะโอโซนอาจทำปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ กับสารเคมีบางชนิดที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดสารที่อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อมีปริมาณมากเพียงพอได้ ผู้ใช้งานจึงควรจะปฏิบัติตามคู่มือของเครื่องผลิตโอโซนและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน

แม้ว่าการอบโอโซนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทางหนึ่งในการทำความสะอาดพื้นที่ แต่โอโซนก็มีทั้งคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์และที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ จึงควรใช้งานด้วยความระมัดระวังบนพื้นฐานของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ทีมงาน CKKEQUIPMED หวังว่าข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการอบโอโซนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ที่จะอบโอโซนทำความสะอาดพื้นที่ สามารถใช้งานโอโซนได้อย่างปลอดภัยทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง สัตว์เลี้ยง และสิ่งของยิ่งขึ้น

อ้างอิง

https://www.epa.gov/ozone-pollution-and-your-patients-health/what-ozone

https://www.epa.gov/indoor-air-quality-iaq/ozone-generators-are-sold-air-cleaners

https://www.nasa.gov/audience/foreducators/postsecondary/features/F_Ozone.html

https://www.oransi.com/page/ozone-air-purifier

http://pcd.go.th/info_serv/reg_std_airsnd01.html

https://www.epa.gov/ozone-pollution-and-your-patients-health/health-effects-ozone-general-population

https://core.ac.uk/download/pdf/206108853.pdf

https://unsplash.com/photos/f7h2nTvEknM

https://unsplash.com/photos/tvWqbeOaJnw

https://unsplash.com/photos/T2pGHNdCPO0

https://unsplash.com/photos/iqhvzgouEiA

** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 26 มกราคม 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 26 มกราคม 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้