อบโอโซนคืออะไร? 3 ข้อที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจอบโอโซน

4220 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ห้องนั่งเล่นที่สะอาด

ในปัจจุบัน การอบโอโซนเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำความสะอาดที่กำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์หลายชนิดในอากาศได้ในระยะเวลารวดเร็ว ทั้งยังสามารถสลายตัวในเวลาอันสั้น จึงไม่ทิ้งกลิ่นไว้นาน แต่โอโซนและการอบโอโซนยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก บทความนี้จึงจะตอบคำถามสามข้อที่หลายท่านสงสัยดังกล่าว

1) โอโซนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร?

โอโซนคือโมเลกุลที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม (O3) แตกต่างจากออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจซึ่งจะประกอบด้วย 2 อะตอม (O2) ในสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไปแล้ว โอโซนจะมีความสัมพันธ์กับมนุษย์สองแบบ คือ

  1. โอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (ชั้นนี้อยู่ถัดจากชั้นบรรยากาศเหนือผิวโลก) จะจับตัวกันเป็นชั้นโอโซนที่ช่วยลดรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ หากมนุษย์สัมผัสรังสียูวีมากเกินไปก็อาจเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งผิวหนัง โอโซนในชั้นบรรยากาศนี้จึงช่วยปกป้องร่างกายของมนุษย์จากรังสียูวี ทำให้มีผู้เรียกว่าเป็น “โอโซนดี”
  2. แต่โอโซนก็มีอันตรายกับมนุษย์เช่นกัน จึงมีผู้เรียกโอโซนในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (ชั้นบรรยากาศระดับพื้นผิวโลกที่มนุษย์อาศัย) ว่า “โอโซนไม่ดี” หากมนุษย์สูดโอโซนเข้าไปในปริมาณเกินมาตรฐาน เนื้อเยื่อปอดก็จะเสียหาย โอโซนบนพื้นผิวโลกมักจะเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสาร VOCs กับไนโตรเจนออกไซด์ เช่น บนท้องถนนที่มีแดดจัด อาจเกิดโอโซนจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแสงแดดกับสารที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ของยานพาหนะ

หากสรุปง่ายๆ ก็คือ โอโซนมีทั้งประโยชน์และโทษกับมนุษย์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั่นเอง

แต่เพราะโอโซนมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ จึงมีผู้นำมาใช้งานในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มและในอาคาร รวมถึงการอบโอโซน

2) อบโอโซนคืออะไร? กระบวนการเป็นอย่างไร

 

(ขอบคุณภาพจาก Nathan Fertig จาก unsplash)

เพราะว่าโอโซนเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร ทำให้ไม่สามารถคงสภาพเป็นเวลานาน โอโซนจึงต้องผลิตขึ้นเมื่อจะใช้งาน โดยเครื่องผลิตโอโซนจะยิงประจุไฟฟ้าออกมาเพื่อเปลี่ยนออกซิเจนในอากาศให้กลายเป็นโอโซนที่จะขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บางชนิดในอากาศ หรือ “อบพื้นที่ด้วยโอโซน”

แต่โอโซนจะจัดการกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร? ดังที่กล่าวถึงข้างต้นว่าโอโซนประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม ออกซิเจนอะตอมที่สามของโอโซนสามารถแยกตัวออกมาจับกับโมเลกุลของสารอื่น แล้วเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของสารนั้น และทำให้โมเลกุลโอโซนกลับคืนเป็นออกซิเจน กระบวนการนี้จึงสามารถฆ่าเชื้อและหยุดยั้งการเจริญเติบโตของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่ เช่น แบคทีเรียหรือฟังไจบางประเภท และลดสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นบางประเภท ฯลฯ

3) ถ้าเปรียบกับวิธีการทำความสะอาดแบบอื่น การอบโอโซนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

 

(ขอบคุณภาพจาก Becky Phan จาก unsplash)

หากเทียบกับวิธีการทำความสะอาดแบบอื่น เช่น การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อ การอบโอโซนมีข้อดีต่างๆ เช่น เมื่ออบโอโซนเรียบร้อยแล้ว โอโซนสามารถสลายตัวไปในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ทำให้ไม่เกิดอันตรายกับผู้ใช้พื้นที่ ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวน และการอบโอโซนก็จะไม่ทำให้เชื้อโรคที่อาจอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของหรืออาคารฟุ้งขึ้นมาสร้างอันตรายกับมนุษย์ นอกจากนี้ ถ้าเปรียบกับการทำความสะอาดด้วยการเช็ดถู การอบโอโซนย่อมใช้งานได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตาม การอบโอโซนก็มีข้อจำกัดต่างๆ เฉกเช่นกัน การอบโอโซนควรปฏิบัติตามขั้นตอนรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานเผชิญอันตรายจากโอโซน โอโซนอาจกัดกร่อนข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากยางบางประเภท และไม่สามารถขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บางส่วนจากวัสดุที่มีรูพรุน ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศที่การอบโอโซนสามารถขจัดได้ ดังนั้น การกำจัดต้นกำเนิดของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในอากาศ เช่น แหล่งกำเนิดกลิ่น จึงควรทำควบคู่กันไปด้วย

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการอบโอโซนจะไม่ใช่วิธีการทำความสะอาดอากาศที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน

อ้างอิง

https://www.epa.gov/ozone-pollution-and-your-patients-health/what-ozone

https://www.epa.gov/indoor-air-quality-iaq/ozone-generators-are-sold-air-cleaners

https://www.nasa.gov/audience/foreducators/postsecondary/features/F_Ozone.html

https://www.oransi.com/page/ozone-air-purifier

https://unsplash.com/photos/9uH-hM0VwPg

https://unsplash.com/photos/FBXuXp57eM0

https://unsplash.com/photos/r0IZXw84v14

** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 22 มกราคม 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 22 มกราคม 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้