ของหวานสำหรับแม่ลูกอ่อน เพิ่งคลอดกินของหวานอะไรดี

93303 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถ้วยใส่มะละกอ แก้วมังกร กล้วย

หลังคลอดกินเค้กได้ไหม? ขนมที่ใส่กะทิล่ะ? ข้าวเหนียวมะม่วงก็น่าอร่อย กินได้ไหม? ทั้งหมดคงเป็นคำถามคาใจของแม่ลูกอ่อนหลายท่าน หลังวุ่นวายกับการดูแลลูกน้อย คุณแม่คงต้องการช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการรับประทานของหวาน แต่แล้วก็กังวลว่า ถ้ารับประทานเข้าไปแล้วจะส่งผลกับร่างกายที่กำลังพักฟื้นหลังคลอด หรือส่งผลกับการให้นม จึงต้องการทราบว่า ของหวานแบบใดที่รับประทานได้ แบบใดที่ควรเลี่ยงไปก่อน

เพราะเราเชื่อว่า การรับประทานของหวานช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการเลี้ยงดูลูกน้อย ซึ่งสำคัญไม่ต่างจากการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง วันนี้ ทีมงาน CKKEQUIPMED จึงรวบรวมข้อมูลแนวทางต่างๆ ในการรับประทานของหวานของคุณแม่ลูกอ่อนมาไว้ในบทความนี้ เชิญติดตามกันเลยนะคะ

สารบัญ

  1. น้ำตาลในขนมควรเลี่ยงไหม?
  2. หลังคลอดกินขนมที่มีไขมันได้ไหม?
  3. ขนมที่มีคาเฟอีนกินได้ไหม?
  4. ระวังอาหารที่ทารกแพ้
  5. แล้วแม่ลูกอ่อนจะรับประทานอาหารอะไรดี?

น้ำตาลเลี่ยงไปก่อนดีกว่า

(ขอบคุณภาพจาก Lama Roscu)

จะดีกว่าถ้าลดหรือเลี่ยงน้ำตาลได้นะคะ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรักโตส เพราะมีงานวิจัยที่เสนอว่า น้ำตาลฟรักโตส (หรือฟรุกโตส) ที่อยู่ในน้ำผึ้ง ผักผลไม้บางชนิด และใช้ปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มแปรรูปต่างๆ เช่น น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว สามารถส่งผ่านจากร่างกายของแม่เข้าไปสู่น้ำนม น้ำตาลฟรักโตสที่ว่า ไม่เพียงเพิ่มน้ำหนักของทารก แต่ยังอาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และโรคอื่นๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น

ดังนั้นหากเป็นไปได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานของหวานที่มีน้ำตาลฟรักโตสปริมาณมาก โดยอาจดูจากฉลากสินค้าของของหวานว่ามี “ฟรักโตสไซรับ” หรือ “น้ำเชื่อมฟรักโตส” หรือไม่ ของหวานที่มักปรุงแต่งด้วยน้ำเชื่อมฟรักโตส หรือมีฟรักโตสในปริมาณมาก มีตัวอย่างดังนี้ค่ะ

  • ลูกกวาด
  • ไอศกรีม
  • เยลลี่
  • โดนัต คุกกี้ เค้ก
  • ขนมขบเคี้ยว

นอกจากนี้ ของหวานที่ดูจะไม่ใส่น้ำตาล ผู้ผลิตบางแห่งก็อาจปรุงแต่งด้วยน้ำเชื่อมฟรักโตสเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น โยเกิร์ตที่มีรสหวาน ขนมปัง ซีเรียล ของหวานเหล่านี้คุณแม่อาจต้องดูฉลากก่อนรับประทาน หรือหลีกเลี่ยงไม่รับประทานในปริมาณมากนะคะ

ส่วนผักผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลฟรักโตสก็จริง แต่มักไม่ได้มีในปริมาณมาก จึงสามารถรับประทานได้ตามปกติค่ะ

ไขมันที่มากเกินไปอาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน

(ขอบคุณภาพจาก Mink Mingle)

ปัญหาหนึ่งของคุณแม่ที่ให้นมลูกคืออาการที่เรียกว่า “ท่อน้ำนมอุดตัน” หรืออาการที่น้ำนมจับตัวเป็นก้อนและไม่ไหลออกจากเต้า อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไปค่ะ ตัวอย่างของหวานที่มีไขมันมาก ก็คือ

  • กะทิ: กล้วยบวชชี ลอดช่อง บัวลอย ข้าวเหนียวมะม่วง ปลากริมไข่เต่า ขนมถ้วย ข้าวต้มมัด สังขยา
  • เนย ชีส ครีม: เอแคลร์ เค้ก ชีสเค้ก ชีสพาย
  • น้ำมัน: ปาท่องโก๋ กล้วยทอด ข้าวเกรียบ

ระวังคาเฟอีนที่มากเกินไป

(ขอบคุณภาพจาก American Heritage Chocolate)

คาเฟอีนส่งผ่านน้ำนม และอาจทำให้ลูกน้อยกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อย่างไรก็ตาม ถ้ารับประทานในปริมาณไม่มาก เช่น ดื่มกาแฟไม่เกินสองหรือสามแก้วในหนึ่งวัน ก็มักไม่มีผลใดกับลูกน้อย คุณแม่จึงสามารถรับประทานเครื่องดื่มและของหวานที่มีคาเฟอีนได้บ้าง แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปนะคะ

ตัวอย่างของหวานที่มีคาเฟอีน ก็คือของหวานที่มีไส้หรือหน้าเป็นช็อกโกแล็ต กาแฟ หรือชาค่ะ เช่น คุกกี้รสกาแฟ เค้กรสชา ช็อกโกแล็ตมูส โดนัตช็อกโกแล็ต

อาหารที่ทารกแพ้ คุณแม่ควรเลี่ยง

เด็กบางคนมีอาการแพ้นมวัว และแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว เช่น เนย โยเกิร์ต บางคนมีอาการแพ้ถั่ว ไข่ หรือข้าวโพด เพราะว่าอาหารที่คุณแม่รับประทานสามารถส่งผ่านน้ำนม ทำให้ทารกเกิดอาการแพ้ได้ คุณแม่อย่าลืมสังเกตอาการของทารกว่าแพ้อาหารประเภทใดหรือไม่และเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทนั้นนะคะ

แล้วแม่ลูกอ่อนจะรับประทานของหวานอะไรดี

อย่างแรก คุณแม่อาจพิจารณาของหวานที่ “รอด” จากข้อควรระวังต่างๆ ข้างต้น ตัวอย่างเช่น มันต้มขิง หรือฟักทองนึ่ง (และหลายคนก็บอกว่าขนมทั้งสองชนิดช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้อีกด้วย) หรือคุณแม่อาจเบนไปรับประทานผักผลไม้สดแทน เช่น มะละกอ ผลไม้แห้งเองก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ลอบแห้ง กล้วยตาก หรือลูกเกด

แต่ในทางกลับกัน คุณแม่ก็อาจรับประทานรับประทานของหวานทั่วไป (ยกเว้นของหวานที่มีส่วนประกอบที่ทำให้ทารกเกิดอาการแพ้ ควรเลี่ยงอย่างเด็ดขาดถ้าหากเป็นไปได้) แม้จะมีน้ำตาล ไขมัน หรือคาเฟอีนบ้างเล็กน้อย เพียงแต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือรับประทานซ้ำไปซ้ำมาเท่านั้นเองค่ะ

และถ้าคุณแม่สงสัยต่อว่า หลังรับประทานของหวานแล้ว จะจิบเครื่องดื่มแบบไหนคลายกระหายดี? เครื่องดื่มแบบไหนเหมาะสำหรับแม่ลูกอ่อน หรือควรเลี่ยงไปก่อน? ทีมงาน CKKEQUIPMED ก็รวบรวมข้อมูลมาไว้แล้วนะคะ คุณแม่สามารถหาคำตอบได้ในบทความเครื่องดื่มสำหรับคุณแม่หลังคลอด หากให้นมอยู่ดื่มอะไรดี?

อ้างอิง

https://www.nhs.uk/conditions/baby/breastfeeding-and-bottle-feeding/breastfeeding-and-lifestyle/diet/

https://www.cdc.gov/breastfeeding/breastfeeding-special-circumstances/diet-and-micronutrients/maternal-diet.html

https://www.healthline.com/nutrition/20-foods-with-high-fructose-corn-syrup

https://news.usc.edu/117042/from-mother-to-baby-secondhand-sugars-can-pass-through-breast-milk/

https://www.scimath.org/article/item/4811-2016-07-13-02-56-53

https://www.verywellfamily.com/nutritional-needs-while-breastfeeding-431684

https://www.webmd.com/baby/milk-allergy-breastfeeding

https://unsplash.com/photos/Wpg3Qm0zaGk

https://unsplash.com/photos/LGNxQzYmeUk

https://unsplash.com/photos/RQ4TXxFaaZc

https://unsplash.com/photos/si4-pd-eeJs

 ** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 26 กุมภาพันธ์ 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 16 มีนาคม 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้