บูโจสำหรับคุณแม่ วิธีการจดบันทึกที่จะช่วยให้ชีวิตการเลี้ยงลูกง่ายขึ้น

2143 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คุณแม่กำลังจดบันทึกลงสมุด

ชีวิตของคุณแม่มักจะมีภารกิจหลายชิ้นที่ต้องจัดการ ตั้งแต่การดูแลครรภ์ การเตรียมตัวคลอด การซื้อของใช้ให้ลูก การหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลลูก การให้นมลูก การปั๊มนมลูก หรือการชงนม ยังไม่ต้องกล่าวถึงภารกิจจากชีวิตของคุณแม่เอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การดูแลสุขภาพ การพักฟื้นหลังคลอด หรืออื่นๆ อีกมากมาย ไม่แปลกเลยนะคะถ้าหากคุณแม่หลายท่านรู้สึกเหนื่อยอ่อน เคร่งเครียด หรือยุ่งตลอดเวลา

วันนี้ ทีมงาน CKKEQUIPMED จึงขอนำเสนอสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยให้คุณแม่บริหารจัดการเวลาและพลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือการทำ “Bullet journal” หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่าบูโจ (BuJo) นั่นเองค่ะ

Bullet journal หรือบูโจคืออะไร

(ขอบคุณภาพจาก Estée Janssens)

ถ้ากล่าวสั้นๆ บูโจคือวิธีการจดบันทึกแบบหนึ่งที่พัฒนาโดย Ryder Carroll นักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลชาวอเมริกัน เขาพยายามค้นหาวิธีการจดบันทึกแบบที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งรวมการจดรายการสิ่งที่ต้องทำ การนัดหมาย บันทึกไอเดีย ฯลฯ ไว้ด้วยกัน จนได้ระบบที่มีลักษณะดังนี้ค่ะ

  • แทนที่จะจดโน้ตยาวๆ เป็นย่อหน้า ให้จดเป็นหัวข้อแทน (ถ้ามีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับสิ่งสิ่งนั้น ก็แตกเป็นหัวข้อย่อย)
  • บูโจแบ่งเนื้อหาของโน้ตเป็นสามประเภท และเนื้อหาแต่ละประเภทจะใช้ bullet หรือสัญลักษณ์ด้านหน้าโน้ตที่แตกต่างกัน เพื่อให้กลับมาอ่านโน้ตแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าโน้ตนี้มีเนื้อหาประเภทใด คือ
    • สิ่งที่ต้องทำ (task) ใช้สัญลักษณ์เป็นจุด (ถ้าหากทำสิ่งที่ต้องทำสำเร็จเรียบร้อย ก็กากบาทลงไปเหนือจุด ถ้าเลื่อนออกไปก็วาดหัวลูกศรทับ หรือถ้าไม่ต้องทำสิ่งนั้นแล้ว ก็ขีดฆ่าทิ้ง)
    • สิ่งที่จดเอาไว้ (note) ใช้สัญลักษณ์เป็นขีด
    • เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น (event) ใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลม
  • โน้ตต่างๆ จะอยู่ใน “collection” หรือแพตเทิร์นการจดโน้ตแบบต่างๆ เช่น การจดโน้ตสำหรับแต่ละวัน หรือสำหรับแต่ละเดือน
  • ไอเดียหลักของการจดบันทึกแบบบูโจ นอกจากความเรียบง่ายแล้ว ก็คือความยืดหยุ่น บูโจสนับสนุนให้เลือกจดบันทึกในแบบที่เหมาะกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ในการจดให้สะดวกกับการใช้งานยิ่งขึ้น หรือการสร้าง collection แบบใหม่สำหรับประเด็นที่ต้องการจด ซึ่งทำให้เราสามารถรวมโน้ตหลายๆ เรื่องไว้ในที่เดียวกันและไม่จำเป็นต้องแยกสมุด
  • เพราะว่าบูโจสนับสนุนให้แต่ละคนพัฒนาวิธีการบันทึกของตนเอง จึงมีบล็อกจำนวนมากที่แบ่งปันวิธีการจดบูโจที่น่าสนใจ เช่น การสร้าง collection สำหรับรายการอาหารในแต่ละวัน ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้

คลิปนี้ของ Bullet Journal อธิบายวิธีจดบันทึกแบบบูโจภายในสี่นาทีค่ะ

 

 

สำหรับคุณแม่ เริ่มต้นบูโจอย่างไรดี

(ขอบคุณภาพจาก Estée Janssens)

ถ้าหากคุณแม่ไม่เคยเขียนบูโจมาก่อน มีทิปดังนี้ค่ะ

  • สำรวจความต้องการของตนเองในการทำบูโจ: บูโจมีหลายแบบค่ะ หลายคนเขียนบันทึกเฉยๆ หลายคนเขียนบันทึกและตกแต่งจนสวยงาม ถ้าคุณแม่เพียงต้องการจดบันทึกเรื่องต่างๆ เช่น รายการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน ก็ไม่จำเป็นต้องกดดันตนเองให้เขียนบูโจอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือสวยงามก็ได้ค่ะ
  • เลือกอุปกรณ์การจด:
    • สมุดแบบที่คุณแม่ชอบ: อาจพิจารณาการเย็บ (ถ้าตั้งใจใช้สมุดเล่มนี้เป็นเวลานาน สมุดเย็บแม็กอาจจะปกขาดได้) และขนาด (ถ้าจะพกพาติดตัว ควรมีขนาดไม่ใหญ่นัก)
    • เครื่องเขียนที่คุณแม่ถนัด: เช่น ปากกาลูกลื่น ดินสอ ปากกาเมจิก
    • เริ่มทำจากน้อยๆ ก่อน: ในระยะเริ่มแรก เริ่มต้นบันทึกเฉพาะ collection เบื้องต้น เช่น โน้ตประจำวัน หรือ collection ที่ตรงกับความจำเป็นของคุณแม่ เพื่อให้เกิดความเคยชินกับระบบบูโจ แล้วค่อยเติมระบบการบันทึกเพิ่มเติมภายหลังถ้าต้องการ

ไอเดีย “collection” สำหรับคุณแม่

(ขอบคุณภาพจาก That's Her Business)

สำหรับคุณแม่ที่อยากเพิ่มเติม collection เกี่ยวกับลูกน้อยในบูโจ ใช้รายการนี้เป็นแรงบันดาลใจได้ค่ะ

  • รายการข้าวของเครื่องใช้สำหรับลูกน้อย
  • รายการชื่อจริง-ชื่อเล่นที่น่าสนใจสำหรับตั้งให้ลูกในครรภ์ในอนาคต
  • ตารางเวลานัดหมายกับแพทย์
  • รายการอาหารที่คุณแม่รับประทานในแต่ละมื้อระหว่างการให้นม และรายการอาหารเด็ก (ถ้าหากลูกเกิดอาการแพ้หรือไม่สบายหลังจากนั้น คุณแม่ก็จะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอยู่ในมือค่ะ)
  • รายการอาหารที่ลูกแพ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานระหว่างให้นมลูก หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทาน
  • ตารางเวลาการให้นมลูกหรือการปั๊มนมลูก
  • บันทึกเวลาการนอนหลับของลูก
  • ตารางแผนการทำอาหารสำหรับลูกน้อยและคุณแม่
  • บันทึกเกี่ยวกับความสูงและน้ำหนักของทารก
  • บันทึกพัฒนาการลูกน้อย
  • บันทึกความทรงจำหนึ่งบรรทัดในแต่ละวันเกี่ยวกับลูกน้อย
  • ตารางอารมณ์ประจำวันของคุณแม่หรือคุณลูก

สุดท้ายนี้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องทำบูโจลงสมุด แต่สามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์หลักการของบูโจในการเขียนบันทึกในคอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้แอปต่างๆ แทนค่ะ (ตารางต่างๆ เช่น ส่วนสูงน้ำหนัก อาจจะเหมาะกับสเปรตชีตหรือแอปต่างๆ เช่นกัน) เพราะในที่สุดแล้ว จุดสำคัญในการทำบูโจคือการเลือกสรรวิธีการเขียนบันทึกที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้เวลาที่คุณแม่ใช้กับการบันทึกมีประสิทธิภาพที่สุดค่ะ

อ้างอิง

https://unsplash.com/photos/333oj7zFsdg

https://unsplash.com/photos/zni0zgb3bkQ

https://unsplash.com/photos/8fQ-k_Wd9yU

https://unsplash.com/photos/R4sP8_Bq0Bw

https://bulletjournal.com/pages/learn

https://pageflutter.com/4-pregnancy-bullet-journal-trackers/

https://bulletjournal.com/blogs/bulletjournalist/for-moms-part-2-pregnancy

https://bulletjournal.com/blogs/bulletjournalist/for-moms-part-3-newborns

https://thepetiteplanner.com/bullet-journal-page-ideas-for-moms-of-young-children/

https://www.webmd.com/baby/milk-allergy-breastfeeding

https://unsplash.com/photos/Wpg3Qm0zaGk

https://unsplash.com/photos/LGNxQzYmeUk

https://unsplash.com/photos/RQ4TXxFaaZc

https://unsplash.com/photos/si4-pd-eeJs

 ** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 19 มีนาคม 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 26 เมษายน 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้