ธุรกิจอาหารหลังโควิด-19? 4 ประเด็น ธุรกิจอาหารจะปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไร?

1653 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โต๊ะอาหารในร้านที่ยังไม่มีคน

การระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกแง่มุม ตั้งแต่วิธีการรักษาสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน วิธีการจัดการขนส่งสินค้า ไปจนถึงวิธีการประกอบธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจอาหารซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างมาก

แม้ว่าในประเทศไทยจะผ่านพ้นการล็อกดาวน์ประเทศช่วงต้นปี 2563 ไปเรียบร้อยแล้ว โควิด-19 ก็ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลกและย่อมมีโอกาสระบาดเป็นวงกว้างในไทยอีกครั้ง จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ธุรกิจอาหารในไทยจะรับมือกับช่วงเวลาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยอย่างไร? อะไรคือความต้องการของผู้บริโภค? อะไรคือเทรนด์ของธุรกิจอาหารในช่วงเวลานี้? ประเด็นต่างๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปพิจารณา อาจสรุปได้ดังนี้

1. ความสะอาดปลอดภัยของอาหารคือสิ่งสำคัญ

(ขอบคุณภาพจาก Rachel Claire จาก Pexels)

ความสะอาดปลอดภัยคือหัวใจของการป้องกันโควิด-19 ดังนั้น ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความสะอาดปลอดภัยของอาหารย่อมกลายเป็นเกณฑ์สำคัญในการเลือกซื้ออาหารในใจของผู้บริโภค และในห้วงเวลาที่ประเทศไทยอาจเกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้างขึ้นอีกครั้ง ผู้บริโภคจำนวนมากก็จะยังคงเลือกซื้ออาหารโดยคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย ผู้ประกอบการจึงยิ่งต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ผ่านมาตรการการจัดการสุขอนามัยของอาหาร บุคลากร และสถานประกอบการ ตัวอย่างเช่น

  • การเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
  • การเปิดเผยมาตรการความปลอดภัยในกระบวนการการผลิต แปรรูป บรรจุ และขนส่งสินค้า
  • การให้บุคลากรที่อยู่ใกล้ชิดกับอาหารสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ หมวกคลุมผม และอื่นๆ
  • การรักษาความสะอาดในสถานประกอบการ
  • การขอใบรับรองมาตรฐานที่ยืนยันความสะอาดปลอดภัยของอาหาร

2. การใช้งานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในธุรกิจอาหารเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

(ขอบคุณภาพจาก Mikhail Nilov จาก Pexels)

กล่าวได้ว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต บรรจุ ขนส่ง และการขาย ซึ่งลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ของชาวไทยที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจลดความสำคัญลงเมื่อการระบาดของโควิด-19 หยุดลง แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ย่อมเคยชินกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งในมุมมองของผู้ประกอบการแล้ว ยังอาจช่วยลดต้นทุนในการผลิตหรือเพิ่มยอดขายอีกด้วย เช่น

  • การจัดส่งอาหารถึงที่ ด้วยการสั่งรายการอาหารและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารให้เหมาะสมกับการจัดส่ง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สะอาดปลอดภัย
  • การสั่งอาหารและชำระเงินในร้านอาหารผ่านช่องทางดิจิตัล เช่น ใช้ระบบหน้าจอสัมผัส ระบบ QR code หรือการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนการติดต่อกับพนักงาน

นอกจากนี้ธุรกิจอาหารยังสามารถใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยในการรักษาสุขอนามัยในกระบวนการผลิตได้อีกด้วย เช่น ใช้ในการตรวจจับว่า พนักงานได้ทำตามข้อกำหนดของมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ หรือตรวจจับความสะอาดของเครื่องจักรหรือการปนเปื้อนของอาหาร

3. สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค กระแสผลิตภัณฑ์ และความสนใจใหม่ๆ

(ขอบคุณภาพจาก Mikhail Nilov จาก Pexels)

แม้ว่าธุรกิจจัดส่งอาหารถึงที่เป็นรูปแบบธุรกิจที่แพร่หลายระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะลดการสัมผัสระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้อย่างมาก ทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเพราะธุรกิจจัดส่งอาหารถึงที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเท่าการเปิดร้านอาหาร แต่ธุรกิจรูปแบบนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ของลูกค้าทุกกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังวิเคราะห์ว่า ในอนาคต ธุรกิจร้านอาหารที่จัดส่งอาหารถึงที่จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้น เพราะนอกจากที่แพลตฟอร์มของผู้จัดส่งอาหารทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบร้านอาหารแต่ละแห่งได้อย่างละเอียด อัตราการเติบโตของธุรกิจจัดส่งอาหารก็กำลังชะลอลง

ดังนั้น สำหรับรูปแบบของธุรกิจอาหารหลังโควิด-19 การจัดส่งอาหารถึงที่ย่อมไม่ใช่คำตอบเดียว แล้วรูปแบบธุรกิจแบบใดที่น่าสนใจในโลกหลังโควิด-19?

  • อาหารเพื่อสุขภาพ เพราะโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพยิ่งขึ้น สินค้า เช่น อาหารที่ใช้สมุนไพรและผักซึ่งมีสรรพคุณดีกับร่างกาย อาหารแคลอรี่ต่ำ อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช จึงน่าสนใจ
  • ธุรกิจอาหารที่มอบประสบการณ์ที่ผู้บริโภคต้องการภายใต้เงื่อนไขของโลก New normal ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งไม่ได้ต้องการเพียงสินค้าอาหารที่สะอาดปลอดภัย แต่ยังต้องการประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการรับประทานอาหารที่บ้านอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Mosu ร้านอาหารแบบ Fine Dining ในกรุงโซล นิตยสาร Bon Appétit สัมภาษณ์ Sung Anh เจ้าของร้านอาหารดังกล่าวซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นหลังเกาหลีใต้คลายการล็อกดาวน์ สาเหตุเพราะชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งอยากออกจากบ้านและแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ในเมื่อไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ พวกเขาจึงมาแสวงหาประสบการณ์ดังกล่าวด้วยการเข้าร้านอาหารแบบ Fine Dining แทน
  • ระบบอาหารที่มีความยั่งยืน (Sustainablity) และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งยังคงให้ความสำคัญ ผู้ประกอบการจึงสามารถใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นจุดขายจุดหนึ่งของธุรกิจ เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าวัตถุดิบทั่วไป หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ของอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. การบริหารจัดการธุรกิจอาหารในโลกหลังโควิด-19 คือการปรับตัว

(ขอบคุณภาพจาก fauxels จาก Pexels)

นอกจากความสะอาดปลอดภัย เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคแบบใหม่แล้ว ธุรกิจอาหารหลังโควิด-19 ยังต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้ผู้คนมีกำลังซื้อลดลง และนำไปสู่ผลกระทบต่างๆ เช่น

  • การปิดตัวของกิจการต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบกับคู่ค้าของกิจการเหล่านั้น ร้านอาหารจำนวนมากปิดตัวลงถาวร ทำให้อุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กัน เช่น ธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบอาหาร หดตัวลงตาม และในทางกลับกัน อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 เช่น การท่องเที่ยว หรือโรงแรม ก็จะทำให้ธุรกิจอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบตามเป็นทอดๆ
  • ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคจำนวนมากอาจพิจารณาซื้อสินค้าจากราคาและความคุ้มค่ายิ่งขึ้น

ดังนั้นธุรกิจอาหารหลังโควิด-19 คงจะต้องรับมือสถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยิ่งกว่าคู่แข่ง การลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนกระบวนการการผลิตและการดำเนินงาน การปรับโครงสร้างพนักงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและยืดหยุ่นกับซัพพลายเออร์ ไปจนถึงการวางแผนรับมือวิกฤตหรือสถานการณ์ไม่คาดคิดโดยเฉพาะการแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19

ไม่ว่าจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งหรือไม่ โควิด-19 ก็ได้สร้างผลกระทบระยะยาวกับธุรกิจอาหารซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมาทบทวนและวางแผนการทำธุรกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ดูจะเต็มไปด้วยความท้าทาย ก็ย่อมมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและทำให้ธุรกิจของตนมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทีมงาน CKKEQUIPMED ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกท่าน

อ้างอิง

https://www.qsrweb.com/articles/covid-19-will-forever-change-the-foodservice-industry/

https://foodsafetytech.com/column/five-trends-defining-the-food-industry-post-covid/

https://www.thansettakij.com/content/columnist/439790

https://www.thaibicusa.com/2020/05/27/newnormal2/

https://www.brandbuffet.in.th/2020/08/food-and-beverage-in-hotel-industry-after-covid-19-dusitthani/

https://www.bonappetit.com/story/food-businesses-covid-19

https://www.prachachat.net/breaking-news/news-502564

https://towardsdatascience.com/how-artificial-intelligence-is-revolutionizing-food-processing-business-d2a6440c0360

https://www.pexels.com/th-th/photo/4846309/

https://www.pexels.com/th-th/photo/6613774/

https://www.pexels.com/th-th/photo/6613055/

https://www.pexels.com/th-th/photo/3184666/

** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 29 มกราคม 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้