เปิดข้อมูลฝุ่น PM2.5! อันตรายและการรับมือ สำหรับหญิงมีครรภ์และทารก

2036 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แม่อุ้มลูกท่ามกลางฝุ่นควันในเมือง

ในระยะนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งขึ้นสูงอีกครั้งในหลายจังหวัด ส่งผลกระทบกับสุขภาพชาวไทยจำนวนมาก เพราะเมื่อสูดดมเข้าไป ฝุ่น PM2.5 (ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน) จะสามารถผ่านการคัดกรองของขนจมูกมนุษย์ จนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือด และอาจนำไปสู่โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หรืออื่นๆ

ก่อนหน้านี้ ทีมงาน CKKEQUIPMED เคยเจาะลึกที่มาที่ไปและวิธีการรับมือป้องกันฝุ่นจิ๋วสำหรับคนทั่วไปในบทความ ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยจิ๋วที่เราไม่ควรลืม แต่สำหรับเด็กในครรภ์และทารกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่างๆ ในร่างกาย ฝุ่น PM2.5 อาจก่ออันตรายที่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เด็กในท้องและทารกต่างเสี่ยงผลกระทบระยะยาวจากฝุ่น PM2.5

(ขอบคุณภาพจาก Hollie Santos)

ยิ่งหญิงตั้งครรภ์ได้รับฝุ่น PM2.5 มากขึ้นเท่าใด ลูกน้อยในครรภ์ก็จะเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วมากขึ้นตาม งานวิจัยพบว่า ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้เด็กในครรภ์เผชิญปัญหาต่างๆ เช่น

  • น้ำหนักน้อยและเจริญเติบโตช้า: ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้เซลล์เสียหาย ทำให้เลือดไหลเวียนในรกลดลง และอื่นๆ ซึ่งมีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ เมื่อออกจากครรภ์ เด็กจึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ยังอาจมีผลระยะยาวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ทารกกำลังเริ่มพัฒนาขึ้นอีกด้วย
  • การคลอดก่อนกำหนด: การสัมผัสฝุ่น PM2.5 จำนวนมากโดยเฉพาะในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 29 สัปดาห์เป็นต้นไป) เพิ่มความเสี่ยงที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะตายคลอด: งานวิจัยบางชิ้นเสนอว่า หากหญิงมีครรภ์ได้รับฝุ่น PM2.5 จำนวนมากในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดภาวะตายคลอดก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ หลังคลอด ทารกก็เสี่ยงอันตรายไม่แพ้กัน เพราะระบบทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทารกจึงต้องหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่และสูดฝุ่น PM2.5 เข้าไปมากขึ้น ส่งผลกระทบกับสุขภาพระยะยาวของทารก ทั้งพัฒนาการทางระบบประสาท ทางการเคลื่อนไหว ทางอารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้สารที่มีประโยชน์บางชนิดในนมแม่ลดลง ส่งผลกับพัฒนาการของทารกเช่นเดียวกัน

ดูแลเด็กในครรภ์ ทารก และหญิงมีครรภ์อย่างไรเพื่อลดอันตรายจากฝุ่น PM2.5

(ขอบคุณภาพจาก Rosalia Ricotta)

แม้ว่าคนแต่ละคนไม่อาจหลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นพิษอย่างสิ้นเชิงในยามที่ค่าฝุ่นในอากาศพุ่งสูง อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เข้าสู่ร่างกายของเด็กในครรภ์ ทารก และหญิงมีครรภ์ได้บางส่วน คือ

  1. พยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยตรวจสอบคุณภาพอากาศเป็นประจำ งดเข้าไปในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นสูง ถ้าสามารถย้ายไปอาศัยในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นน้อยกว่า ก็อาจย้ายไปชั่วคราว
  2. เลี่ยงการออกนอกบ้านถ้าหากเป็นไปได้ เพราะภายนอกบ้านอาจมีค่าฝุ่นสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคำนึงว่า หากเปิดให้อากาศจากภายนอกรั่วไหลสู่ภายในบ้าน ย่อมเท่ากับว่าในบ้านอาจมีค่าฝุ่นที่สูงไม่ต่างจากภายนอกบ้าน ไม่ว่าในบ้านจะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม และถ้าหากปิดบ้านไม่ให้อากาศหมุนเวียนหลังจากนั้น ก็อาจกลายเป็นว่าบ้านกักเก็บฝุ่น PM2.5 ไว้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ก็อาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะช่วยให้บ้านมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
  3. ใส่หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยเคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใส่หน้ากากให้ทารกระหว่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ไม่ควรใส่หน้ากากใดๆ ก็ตามให้ทารกที่มีอายุไม่เกินหนึ่งปี เพราะระบบการหายใจของทารกยังไม่พัฒนาเพียงพอ ทารกหายใจทางจมูกเป็นหลัก ไม่สามารถอ้าปากหายใจทดแทน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการขาดอากาศได้ สำหรับทารกที่มีอายุ 1-2 ปี กรมอนามัยแนะนำว่าสามารถใส่หน้ากากอนามัยในระยะเวลาสั้นๆ โดยมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่ควรใส่ขณะทารกหลับ ทารกจึงไม่สามารถใช้หน้ากากเป็นอุปกรณ์ป้องกันได้มากนัก ดังนั้น ผู้ปกครองอาจต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้ทารกอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงเป็นหลัก หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแทน
  4. ไม่สร้างฝุ่น PM2.5 เพิ่มด้วยการสูบบุหรี่ หรือจุดธูป ในบริเวณใกล้เคียงหญิงมีครรภ์และทารก หรือในบริเวณที่ควันดังกล่าวอาจติดตัวผู้ใหญ่และกลายเป็นควันมือสองที่ทำร้ายเด็กได้
  5. สำหรับทารก การให้ทารกดื่มนมแม่ดีกว่าไม่ให้ดื่ม แม้ว่านมแม่อาจจะปนเปื้อนจากมลพิษ แต่นักวิจัยเห็นว่า ข้อดีของนมแม่ ซึ่งช่วยป้องกันผลกระทบบางส่วนที่มลพิษทางอากาศมีกับร่างกาย มีมากกว่าข้อเสีย จึงควรให้ดื่มถ้าหากเป็นไปได้

เพราะภัยฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่คนแต่ละคนไม่สามารถแก้ไข ระงับ และป้องกันด้วยตนเองไปเสียทั้งหมดได้ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขในระดับสังคม เช่น ผ่านการออกนโยบายแก้ไขต้นตอของฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในยามที่ปัญหายังไม่คลี่คลาย การลดปริมาณฝุ่นที่หญิงมีครรภ์และทารกสูดดมเข้าไป ย่อมลดความเสี่ยงที่ฝุ่นจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวกับสุขภาพเช่นกัน

อ้างอิง

https://workpointtoday.com/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528642/

https://aaqr.org/articles/aaqr-19-10-oa-0550

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6862650/

https://news.thaipbs.or.th/content/300111

https://www.sanook.com/health/14373/

http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=245

https://www.thairath.co.th/news/society/1484598

https://mgronline.com/qol/detail/9620000006288

https://he02.tci-thaijo.org/index.php/tjog/article/view/180546

https://unsplash.com/photos/aUtvHsu8Uzk

https://pixabay.com/images/id-5289513/

https://unsplash.com/photos/Z4GKcFAGck4

https://unsplash.com/photos/27t7HQwJTx4

 ** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 12 มีนาคม 2564 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 15 มีนาคม 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้